สอนนับคลื่น Elliott Wave ทองคำ (Gold Spot)


Workshop สอน Elliott Wave นับคลื่น Gold Spot  




สอน Elliott Wave Gold เรียนรู้การนับคลื่น อีเลียต




" ทองคำจะเป็นอย่างไร มองไกลยันลูกบวช  " แชร์มุมมองสอน Elliott Wave สไตล์โต่งเต่ง


     บทความวิเคราะห์ทองคำด้วยทฤษฎีคลื่นเอลเลียต (Elliott Wave)  สืบเนื่องจากงานสัมมนาในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา มีแบบฝึกหัด Workshop นับคลื่น Elliott Wave ทองคำ หรือ Gold Spot ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าสัมมนามากพอสมควร บทความนี้จะเป็นการทบทวนและอธิบายวิธีวิเคราะห์หาทิศทางความน่าจะเป็นการเคลื่อนที่ของราคาทองคำในอนาคต ว่าควรมีการเคลื่อนที่ไปยังทิศทางใดได้บ้าง โดยอ้างอิงการวิเคราะห์จากเหตุและผลตามทฤษฎีคลื่นเอลเลียต (Elliott Wave)



เพื่อนๆท่านใดที่ไม่ได้เข้าเรียนสัมมนาลองศึกษาจากบทความบทนี้ดูได้ครับ หากมีคำถามหรือไม่เข้าใจตรงไหนสอบถามได้เลยนะครับ หากคุณมีมุมมองที่ขัดแย้งหรือมีข้อเสนอแนะอื่นใดเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎี สามารถแลกเปลี่ยนความรู้หรือแชร์มุมมองกันได้เต็มที่เลยนะครับ



ผมหวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย ท้ายที่สุดบทสรุปของตลาดจะเฉลยออกมาเป็นอย่างไร ผมยินดีน้อมรับในความผิดพลาดต่างๆเพื่อนำมาพัฒนาตนเอง และหวังว่าเพื่อนๆก็จะมีมุมมองดีๆที่ถ่ายทอดกลับมาแลกเปลี่ยนเพื่อให้ผมได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ทฤษฎีคลื่นอเลเลียตไปพร้อมๆกันนะครับ


… หากพร้อมแล้วเรามาเริ่มวิเคราะห์กราฟ Gold Spot ที่ละ Step กันเลยครับ เนื้อหาบทความนี้ยาวนิดนึงนะครับ ค่อยๆอ่านทำความเข้าใจทีละลำดับ ไม่ต้องรีบร้อนนะครับ ท้ายบทจะมีแผนผังแยกกรณีต่างๆเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจความเชื่อมโยงของแต่ละกรณีมากขึ้น รวมทั้งใครมี ตำรา Elliott Wave หรือ หนังสือ Elliott Wave เชิงลึก ผลงานเขียนของผม เปิดศึกษาควบคู่กับบทความนี้ก็น่าจะทำให้เข้าใจคอนเซ็ปการวิเคราะห์มากขึ้น




สอน Elliott Wave Gold spot ทองคำ
รูปที่ 1 Gold Spot ในภาพใหญ่




  • ขั้นตอนที่ 1 เตรียมวัตถุดิบ


     สินค้าที่เราจะทำการวิเคราะห์นั้นจำเป็นต้องทราบให้แน่ชัดว่าเป็นข้อมูลกราฟที่มีการบันทึกข้อมูลในอดีตครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือไม่ กราฟจากบางโปรแกรมอาจจะไม่ได้นำข้อมูลทุกช่วงของกราฟในอดีต นำมาเป็นข้อมูลให้นักวิเคราะห์ได้พิจารณา ซึ่งผมมองว่าขั้นตอนการวิเคราะห์จากขั้นตอนที่ 1 จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับการเตรียมข้อมูล หรือวัตถุดิบให้พร้อมก่อนที่จะเริ่มทำการวิเคราะห์คลื่นเอลเลียต (Elliott Wave) จากรูปที่ 1 Gold Spot ได้เริ่มมีการบันทึกข้อมูลกราฟเมื่อ 42 ปีก่อน ตั้งแต่ระดับราคาประมาณ 100$





  • ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์บริบทภาพรวมของกราฟที่ปรากฏ


     จากรูปที่ 1 เราสามารถวิเคราะห์บริบทของกราฟที่ปรากฏได้ว่าเป็นการเคลื่อนที่ในรูปแบบของ Trend ซึ่งจากกราฟที่ปรากฏนั้นเราสามารถสังเกตเห็น Segment ทั้งหมดได้ 4 Segments อย่างชัดเจน ซึ่ง 4 Segments ที่ปรากฏขึ้นนั้นสามารถพิจารณาเป็นกรณีต่างๆในโครงสร้างใหญ่ได้ดังต่อไปนี้


1. Impulse Wave : คือคลื่น1,2,3 และกำลังย่อคลื่น 4 โดยที่คลื่น 2 มีบริบทเก็บของ เลยส่งผลให้คลื่น 3 เกิดลักษณะคลื่นขยาย (ประมาณ 200 % ของคลื่น 1) และ Segment ปัจจุบันกำลังย่อ Correction คลื่น 4 นั่นเอง


2. Terminal Impulse Wave : หากคลื่น 4 Overlap หัวคลื่น 1 กรณีนี้ส่วนตัวผมมองว่าอาจเป็นไปได้ยากมากเนื่องจากเกิด คลื่น 3 ขยาย ดังนั้นการย่อคลื่น 4 มีโอกาสน้อยมากที่จะย่อลงมาเพื่อ Overlap หัวคลื่นที่ 1 แต่ในทางทฤษฎียังมีโอกาสเป็นไปได้(แต่ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นน้อยมาก) ซึ่งผมขออนุญาตยังไม่นำข้อสมมติฐานในกรณีนี้มาทำการวิเคราะห์รายละเอียดในโครงสร้างเล็กนะครับ แต่อย่าลืมว่าการจะเป็นคลื่นที่ 4 ได้นั้น คลื่น 4 ต้องห้ามหลุดฐานคลื่น 2 หากราคาปรับหลุดฐานคลื่นที่ 2 ก็จะส่งผลให้ข้อสมมติฐานการวิเคราะห์ใน กรณี Impulse Wave (1) และ Terminal Impulse Wave (2) ผิดทันที นั่นหมายถึงโครงสร้างในภาพใหญ่ของ Gold Spot ได้ปรับตัวเป็นรูปแบบ Sideway ไม่ใช่ Trend



คำถาม : ชุดคลื่นทั้งหมดที่กำลังวิ่งขึ้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเคลื่อนที่ด้วยสถานะ Non Standard Correction Small X Wave?

คำตอบ : ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถเป็น Non Standard Correction Small X Wave ได้ เนื่องจากชุดคลื่นทั้ง 4 Segments เคลื่อนที่เข้าสู่กฎของ Impulse Wave ทั้งในส่วนของกฎโครงสร้างพื้นฐาน , กฎคลื่นขยาย และ กฎการสลับ (ราคา, เวลา, % Retrace ,จำนวนคลื่นย่อย และโครงสร้าง)





  • ขั้นตอนที่ 3 วิเคราะห์ Segment ปัจจุบัน


     Segment ปัจจุบันพิจารณาได้ว่าน่าจะอยู่ในสถานะ Correction คลื่นที่ 4 ซึ่งเป็นชุดคลื่นที่ชะลอความรุนแรงของ Impulse Wave ก่อนหน้าคือคลื่นที่ 3 ที่มีความยาวมากถึง 200 % ของคลื่นที่ 1



คำถาม : คลื่นที่ 4 จะปรับตัวแบบไหนล่ะ?

คำตอบ : ก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณาบริบทของคลื่นที่ 2 ซึ่งคลื่น 2 ที่ปรากฏขึ้นนั้นน่าจะปรับตัวในบริบท Complex Wave หรือไม่ก็ปรับตัวในบริบทตระกูล Flat ก็เป็นไปได้ เนื่องจากส่งผลให้เกิดคลื่น 3 ขยาย

     จากกราฟ ณ ตำแหน่งคลื่นที่ 2 เราไม่สามารถใช้เครื่องมือฟีโบในการวัดอัตราส่วนได้อย่างชัดเจน เพราะโปรแกรมวิเคราะห์กราฟในปัจจุบันไม่ได้เก็บข้อมูลอดีตในส่วนดังกล่าว เลยส่งผลให้เราไม่สามารถทราบราคา ณ Swing ต่างๆได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นจึงขอสรุปว่าคลื่น 4 น่าจะปรับตัวในรูปแบบบริบททิ้งของเช่นรูปแบบ Correction Zigzag, Double Flat หรือไม่ก็ปรับตัวในรูปแบบบริบทเก็บของที่เข้าสู่กฎการสลับโดยแตกต่างจากคลื่น 2 เช่น Correction Triangle หรือ Non Standard Correction ประเภท Large X Wave เป็นต้น





  • ขั้นตอนที่ 4 สร้างสมมติฐานและเงื่อนไขการวิเคราะห์ แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ


- คลื่น 4  "ปรับตัวจบ" ด้วยรูปแบบ Double Flat (Small X Wave) 



(ดูรูปที่ 2)คลื่น 4 ปรับตัวจบด้วยรูปแบบ Non Standard Correction ประเภท Small X Wave ในรูปแบบ Double Flat และกำลังมุ่งหน้าสู่ Impulse Wave 5


เงื่อนไขสมมติฐานกรณีนี้จะผิดคือ เมื่อราคาปรับตัวต่ำกว่าระดับราคา 1042


มุมมองเพิ่มเติม : กรณีนี้มีข้อสังเกตที่ผิดเงื่อนไขตามทฤษฎีอยู่หนึ่งส่วนคือ Subwave ย่อยของคลื่น i ในคลื่น 5 ที่ปรากฏเพียงสามคลื่นย่อย(ในกรอบเส้นประสีน้ำเงิน) ซึ่งผิดหลักโครงสร้างของ Impulse Wave เนื่องจาก Impulse Wave นั้นคลื่นย่อยจำเป็นต้องประกอบไปด้วยห้าคลื่นย่อย ยกเว้นจะปรับตัวในรูปแบบ Ending Diagonal Triangle ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างของคลื่น 5 ทั้งหมดมีลักษณะโครงสร้าง 3-3-3-3-3


แต่ปัจจุบันคลื่น iii ยังไม่สามารถทำ New High สูงกว่าจุดสิ้นสุดของคลื่น i ได้ ผมจึงขออนุญาตยังไม่ให้น้ำหนักการเคราะห์สถานะคลื่นย่อยในกรณีนี้ เนื่องจากบริบทของคลื่นดังกล่าวยังไม่ได้มีการฟอร์มตัวที่ชัดเจนว่าจะเป็นสถานะคลื่นที่ 5 จริง


หากในอนาคตราคาสามารถทำ New High สูงกว่าจุดสิ้นสุดของคลื่น i ได้และสามารถทำลายข้อสมติฐานกรณีต่างๆที่วางแผนไว้ในบทความที่ท่านกำลังจะได้อ่านดังต่อไปนี้ ผมจะกลับมาวิเคราะห์เจาะลึกสถานะคลื่นย่อย ในกรณีนี้อีกครั้ง




เรียน Elliott Wave วิเคราะห์ ทองคำ Gold spot
รูปที่ 2 คลื่น 4 ปรับตัวจบแล้วในรูปแบบ Double Flat





- คลื่น 4  "ปรับตัวยังไม่จบ" แบ่งออกเป็น 3 กรณีดังต่อไปนี้




>>> 1. รูปแบบ Correction Zigzag (ดูรูปที่ 3)


     หากคลื่น 4 ปรับตัวด้วย Correction Zigzag นั่นหมายความว่า ราคาเพิ่งปรับตัวจบคลื่น A และกำลังรีบาวด์คลื่น B โดยคลื่นย่อยของคลื่น B นั้นกำลังอยู่ในสถานะคลื่น C ซึ่งจำเป็นต้องรีบาวด์ขึ้นเหนือเกินจุดสิ้นสุดคลื่น A ให้ได้ ที่ราคา 1375 แต่ต้องไม่เกิน 1585 และหลังจากนั้นก็จะต้องปรับตัวลงอีกครั้งที่ต่ำกว่าระดับราคา 1045 (มี New Low ต่ำกว่าคลื่น A) เพื่อทำคลื่น C ของ Correction Zigzag


เงื่อนไขสมมติฐานกรณีนี้จะผิด ก็ต่อเมื่อคลื่น B รีบาวด์ขึ้นเกิน 61.8% ของคลื่น A ที่ระดับราคา 1585

หากผิดเงื่อนไขดังกล่าวก็จะเข้าสู่แผนการวิเคราะห์สมมติฐานดังต่อไปนี้

1.คลื่น 4 ปรับตัวจบแล้ว (Double Flat)

2. กรณีที่ 2 (รายละเอียดหัวข้อถัดไป)




Elliott Wave สอนนับคลื่น Gld spot
รูปที่ 3 คลื่น 4 ปรับตัวในรูปแบบ Correction Zigzag






*** แต่เดี๋ยวก่อน! การที่คลื่น B รีบาวด์ขึ้นเหนือระดับ 61.8% ของคลื่น A นั้น แท้จริงแล้วอาจยังไม่ได้เป็นสิ่งการันตีซะทีเดียวว่าจะผิดเงื่อนไขของกรณีที่ 1 คือคลื่น 4 ปรับตัวในรูปแบบ Correction Zigzag เพราะว่าชุดคลื่นที่เคลื่อนที่ขึ้นเกิดระดับ 61.8% ของคลื่น A นั้น อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคลื่นย่อยของคลื่น B ที่รีบาวด์เกินขึ้นเกิน 61.8% ก็เป็นไปได้ โดยจุดสิ้นสุดของคลื่น B อาจปรับตัวจบต่ำกว่าระดับ 61.8% ของคลื่น A ซึ่งในกรณีนี้อาจยังให้น้ำในการพิจารณาว่าสามารถปรับเป็นรูปแบบ Correction Zigzag ได้



ฝากคำถามผู้เข้าสัมมนาคอร์ส เรียน Elliott Wave : แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ถ้าราคารีบาวด์ขึ้นเหนือ 61.8% ของคลื่น A จะพิจารณาได้อย่างไรว่าเป็น Correction Zigzag  และมีวิธีวิเคราะห์ สังเกต สร้างเงื่อนไขในการอ้างอิงทฤษฎีอย่างไร จงอธิบาย ?





>>> 2. รูปแบบ Correction Triangle (ดูรูปที่ 4)


     หากคลื่น 4 ปรับตัวในรูปแบบ Correction Triangle นั่นหมายถึง คลื่นแรกจากกรณีคลื่น 4 ปรับตัวจบแล้ว(ปรับตัวในรูปแบบ Double Fat) ก็จะกลายเป็นเพียงคลื่น A ของ Correction Triangle เท่านั้น โดยทฤษฎียังสนับสนุนและอธิบายเกี่ยวกับรูปแบบ Correction Triangle เพิ่มเติมด้วยอีกว่า คลื่นย่อยในคลื่นแรกของ Correction Triangle มักเกิดจากรูปแบบ Complex Wave ที่ขึ้นต้นด้วยรูปแบบ Elongated Flat ต่อด้วย Small X wave และลงท้ายด้วย Correction ชุดคลื่นถัดไป ซึ่งทั้งหมดมีโอกาสเป็นเพียงคลื่น A แรกของ Correction Triangle นั่นเอง (รูปที่ 4 ในกรอบเส้นประสีเขียว)


เงื่อนไขสมมติฐานกรณีนี้จะถูกต้อง เมื่อราคาวิ่งขึ้นอย่างน้อย 38.2 -261.8% ของคลื่น A ดังนั้นหากราคาวิ่งขึ้นเกิน 261.8% ของคลื่น A ก็จะให้น้ำหนักการวิเคราะห์ทันทีว่า คลื่น 4 ปรับตัวจบแล้วในรูปแบบ Double Flat (ยกเว้นเกิดคลื่น 5 ล้มเหลวซึ่งต้องวิเคราะห์การ Retrace ของคลื่น 4) และหากราคาวิ่งขึ้นเหนือ 61.8% ของคลื่น A (ที่1585) โดยที่คลื่น C ย่อยของคลื่น B ปิดเหนือระดับ 61.8% ของคลื่น A ได้ก็จะส่งผลให้เราสามารถตัดกรณีวิเคราะห์ในข้อที่ 1 ทิ้งไป คือคลื่น 4 ปรับตัวในรูปแบบ Correction Zigzag




เรียน Elliott Wave สอนนับคลื่น Gld spot
รูปที่ 4 กรณีที่ 2 คลื่น 4 ปรับตัวยังไม่จบ ในรูปแบบ Correction Triangle





คำถาม : เป็นไปได้ไหมว่าคลื่น 4 ที่กำลังวิเคราะห์อยู่นี้สามารถปรับตัวเป็นรูปแบบกรณีที่ 3 คือ Non Standard Correction ประเภท Large X Wave

คำตอบ : เป็นไปได้ครับ แต่ชุดข้อมูลกราฟที่ปราฏในปัจจุบันยังมีข้อมูลไม่มากพอที่จะทำการวิเคราะห์ในรูปแบบ Non Standard Correction ประเภท Large X Wave ผมจึงขอทำการวิเคราะห์เฉพาะในส่วนของ Standard Correction ชุดแรกเสียก่อน ก่อนที่จะทำการวิเคราะห์ Correction ที่ต่อด้วยคลื่น X-Wave ของชุดคลื่นถัดไปได้


คำถาม : หากคลื่น 4 ปรับตัวในรูปแบบ Non Standard Correction ประเภท Large X Wave ก็จะส่งผลให้ผิดกฎ Alternation Rule กับคลื่น 2 ในภาพใหญ่หรือไม่? (ดูรูปที่ 1)

คำตอบ : หากรูปแบบโครงสร้างการปรับตัวเหมือนกันแต่อีก 4กฎข้อที่เหลือของกฎการสลับ (Alternation Rule) อาจจะแตกต่างกันก็ได้ เช่น ราคา, เวลา, จำนวนคลื่นย่อย และอัตราส่วนในการปรับตัว





  • ขั้นตอนที่ 5 สร้างสมมติฐานและเงื่อนไขการวิเคราะห์ ในโครงสร้าง TF เล็ก


     จากกรณีที่ 1 ถ้าคลื่น 4 ปรับตัวในรูปแบบ Correction Zigzag  นั่นหมายความว่าเรากำลังอยู่ในสถานะคลื่น B ของคลื่น 4 ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ให้ได้คือคลื่น B ปรับตัวเป็นรูปแบบใด ?(ดูรูปที่ 5 ในกรอบพื้นสีเหลือง)

สิ่งที่เราสังเกตเห็นจากข้อมูลกราฟที่ปรากฏคือ

- ปรากฏข้อมูลกราฟขึ้น 3 Segments

- Segment ที่ 1 ปรากฏคลื่นย่อยจำนวน 3 คลื่น

- Segment ที่ 2 Retrace Segment ที่ 1 มากกว่า 61.8% แต่ไม่เกิน 80%

จากข้อมูลกราฟ 3 ส่วนที่ปรากฏขึ้นนั้น น่าจะเชื่อมโยงการวิเคราะห์การปรับตัวรูปแบบในกรณีต่างๆดังต่อไปนี้




หนังสือ Elliott Wave สอนนับคลื่น Glod spot
รูปที่ 5 พิจารณาคลื่นย่อยในกรอบพื้นสีเหลืองของกรณีที่ 1 คือคลื่น 4 ปรับตัวรูปแบบ Correction Zigzag 






1.1 คลื่น B ใน Correction Zigzag “ปรับตัวยังไม่จบ”

แบ่งกรณีแยกย่อยเพิ่มเติมได้อีก 2 กรณี คือ


กรณีที่ 1.1.1 (ดูรูปที่ 6) คลื่น B ปรับตัวในรูปแบบ Correction Flat โดยปัจจุบันกำลังเคลื่อนที่ขึ้นทำคลื่น C เพื่อเคลื่อนที่ให้ครบวัฏจักรคลื่น



คำถาม : แล้วคลื่น C สามารถปรับตัวได้เต็มที่ไม่เกินระดับราคาเท่าใด?

คำตอบ : มีหลักการพิจารณาอยู่ 2 แนวทางคือ

- แนวทางที่ 1 คลื่น C ปรับตัวขึ้นไม่เกิน 61.8% ของคลื่น A คือ 1585 (จากกรณีที่ 1)

- แนวทางที่ 2 คลื่น C ปรับตัวขึ้นไม่เกิน 138.2 % ของคลื่น B คือ 1464 เนื่องจาก Correction Flat ในกรณีนี้ปรับตัวอยู่ในกลุ่ม Weak B ดังนั้นคลื่น C จะสามารถมีความยาวได้เต็มที่ไม่เกิน 138.2% ของคลื่น B นั่นเอง (ยกเว้นเกิดรูปแบบ Elongated Flat ในกลุ่มของ Weak B แต่จะให้น้ำหนักการพิจารณาในข้อนี้น้อยกว่าแนวทางที่ 1)





สรุปสมมติฐานเงื่อนไขกรณีนี้คือ (ดูรูปที่ 6) คลื่น 4 ต้องทำ New High สูงกว่ายอดคลื่น 3 ที่ราคา1358 ให้ได้เพื่อทำสถานะคลื่นที่ 5 และห้ามปรับตัวต่ำกว่าฐานคลื่น 2 ที่ระดับราคา 1204 หากราคาปรับตัวต่ำกว่าก็จะให้น้ำหนักการวิเคราะห์ในกรณีที่ 1.1.2, 1.2.1 และ 1.2.2 



คำถาม : เพราะเหตุใดคลื่น 4 (ย่อยในคลื่น C) จึงสามารถ Overlap หัวคลื่นที่ 1 ได้ ?

คำตอบ : เนื่องจากคลื่น C คือสถานะปลายคลื่นของคลื่น B ใน Correction Zigzag ดังนั้นการเกิดรูปแบบ Terminal Impulse Wave จึงสามารถเกิดขึ้นได้ที่สถานะปลายคลื่น




คอร์สเรียน Elliott Wave อีเลียตเวฟ
รูปที่ 6 คลื่น B ของคลื่น 4 ในรูปแบบ Correction Zigzag ปรับตัวในรูปแบบ Correction Flat






กรณีที่ 1.1.2 (ดูรูปที่ 7) คลื่น B ปรับตัวในรูปแบบ Correction Triangle โดยปัจจุบันกำลังเคลื่อนที่ในสถานะคลื่น D


เงื่อนไขสมมติฐานกรณีนี้จะผิด คลื่น D ไม่ควรปรับตัวต่ำกว่าคลื่น B ที่ระดับราคา 1121 เนื่องจากรูปแบบ Contracting Triangle คลื่น D ไม่ควรมีความยาวเกินคลื่น B หากราคาปรับตัวต่ำกว่า 1121 ก็จะให้น้ำหนักการวิเคราะห์ในกรณีที่ 1.2.2




รูปที่ 7 คลื่น B ของคลื่น 4 ในรูปแบบ Correction Zigzag ปรับตัวในรูปแบบ Contracting Triangle





1.2 คลื่น B เล็ก ของ B ใหญ่ใน Correction Zigzag "ยังปรับตัวยังไม่จบ"

แบ่งกรณีแยกย่อยเพิ่มเติมได้อีก 2 กรณี คือ



กรณีที่ 1.2.1
 (ดูรูปที่ 8) คลื่น B เล็ก ของ B (ใหญ่)ใน Correction Zigzag ปรับตัวไม่จบ กำลังปรับตัวในรูปแบบ Correction Triangle


เงื่อนไขสมมติฐานกรณีนี้จะผิดคือ

1. คลื่น (C) ปรับตัวต่ำกว่าคลื่น (A) ที่ระดับราคา 1121 หากปรับตัวต่ำกว่าก็จะให้น้ำหนักการวิเคราะห์ในกรณีที่ 1.2.2 คือคลื่น B เล็ก ของ B (ใหญ่)ใน Correction Zigzag ปรับตัวไม่จบ กำลังปรับตัวในรูปแบบ Correction Flat


2. ราคาวิ่งขึ้นเหนือ 1358 หากราคาวิ่งขึ้นเหนือระดับราคาดังกล่าวก็จะส่งผลให้เข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์กรณีที่ 1.1.1 คือ คลื่น B ปรับตัวในรูปแบบ Correction Flat และกรณีที่ 2 คือ คลื่น 4 ปรับตัวในรูปแบบ Correction Triangle




คอร์สสอน Elliott Wave อีเลียตเวฟ
รูปที่ 8 คลื่น B เล็ก ของ B (ใหญ่)ใน Correction Zigzag ปรับตัวไม่จบ กำลังปรับตัวในรูปแบบ Correction Triangle






กรณีที่ 1.2.2 (ดูรูปที่ 9) คลื่น B เล็ก ของ B (ใหญ่)ใน Correction Zigzag ปรับตัวไม่จบ กำลังปรับตัวในรูปแบบ Correction Flat โดยกำลังเคลื่อนที่ในสถานะคลื่น (C) เพื่อให้ครบวัฏจักรคลื่น B


เงื่อนไขสมมติฐานกรณีนี้จะผิดคือ ราคาวิ่งขึ้นเหนือ 1355 เนื่องจากคลื่น ii ห้ามรีบาวด์เกินจุดเริ่มต้นของคลื่น i หากราคาวิ่งขึ้นเหนือระดับราคาดังกล่าวก็จะให้น้ำหนักการวิเคราะห์ในกรณีที่ 1.1.1 และกรณีที่ 2 ทันที



คำถาม : คลื่น (C) สามารถปรับตัวลงต่ำกว่าจุดสิ้นสุดของคลื่น (A) ที่ระดับราคา 1122 ได้หรือไม่ ?

คำตอบ : คลื่น (C) สามารถปรับตัวได้ตั้งแต่ 38.2% ของคลื่น (A) จนกระทั้งต่ำกว่าจุดสิ้นสุดของคลื่น (A) ที่ระดับราคา 1122 ได้



คำถาม : หากคลื่น (C) ปรับตัวลงต่ำกว่าจุดสิ้นสุดของคลื่น (A) ที่ระดับราคา 1122 ได้จริง คลื่น B จะปรับตัวเป็นรูปแบบอะไร ?

คำตอบ : คลื่น (B) ที่ราคา 1358 นั้น Retrace คลื่น (A) ประมาณ 80% แสดงว่าคลื่น B น่าจะปรับตัวในรูปแบบ Correction Flat ในกลุ่ม Normal B หากราคามี New Low ต่ำกว่าจุดสิ้นสุดของคลื่น (A) แสดงว่า คลื่น B น่าจะปรับตัวในรูปแบบ Common Flat ประเภทคลื่น C ยาว หรือรูปแบบ Elongated Flat




รูปที่ 9 คลื่น B เล็ก ของ B (ใหญ่)ใน Correction Zigzag ปรับตัวไม่จบ กำลังปรับตัวในรูปแบบ Correction Flat (กลุ่ม Normal B)




คำถาม : หากราคาปรับตัวต่ำกว่าระดับ 1045 ควรจะให้น้ำหนักการวิเคราะห์สมมติฐานในกรณี 1.1.2 นี้หรือไม่ ?

คำตอบ : มุมมองส่วนตัวจะให้น้ำหนักการวิเคราะห์ในกรณีที่ คลื่น B ปรับตัวในรูปแบบ Correction Flat จบ และกำลังเคลื่อนที่ทำคลื่น C (มี New Low ต่ำกกว่าคลื่น A) ของคลื่น 4 ในรูปแบบ Correction Zigzag ในกรณีที่ 1.1.1



คำถาม : อ้าว ! แต่ในกรณีที่ 1.1.1 คลื่น B นั้นปรับตัวในรูปแบบ Correction Flat ยังไม่จบ โดยกำลังทำคลื่นย่อยของคลื่น C เพื่อเคลื่อนที่ให้ครบวัฎจักคลื่น B ของคลื่น 4 ในรูปแบบ Correction Zigzag ไม่ใช่หรือ?

คำตอบ : ถูกต้องครับ คุณเข้าใจถูกต้องแล้ว จากกรณีที่ 1.1.1 สถานะคลื่นปัจจุบันจำเป็นต้องเคลื่อนที่ให้ครบห้าคลื่นย่อยเพื่อเคลื่อนที่ให้ครบคลื่น C ของวัฏจักรคลื่น B แต่อย่าลืมว่า คลื่น C ของ Correction Flat นั้น มีคุณสมบัติเป็น “Trend” รวมทั้งอยู่ ณ สถานะปลายคลื่นอีกด้วย ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้ทั้งรูปแบบ Impulse Wave , Terminal Impulse Wave , Ending Diagonal Triangle หรือแม้กระทั้ง Non Standard Correction ประเภท Small X Wave นั่นเอง



คำถาม : แล้วไงต่อ ?

คำตอบ : (ดูรูปที่ 10) หากคลื่น C เคลื่อนที่ด้วยรูปแบบ Non Standard Correction ประเภท Small X Wave ก็มีความเป็นไปได้ที่คลื่น C จะเคลื่อนที่จบด้วยรูปแบบดังกล่าว ซึ่งผมขอแยกกรณีนี้เป็นอีกกรณีพิเศษเพิ่มเติม คือคลื่น B ของ Correction Zigzag ปรับตัวจบแล้ว โดยที่คลื่น C เคลื่อนที่ในรูปแบบ Double Combination (Zigzag + Flat) นั่นเอง




ตำรา Elliott Wave หนังสือสอนเอลเลียตเวฟ
รูปที่ 10 คลื่น B ของ Correction Zigzag ปรับตัวจบแล้ว โดยที่คลื่น C เคลื่อนที่ในรูปแบบ Double Combination






          รูปที่ 11 แผนผังการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงสมมติฐานกรณีต่างๆที่ราคาทองคำมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยวิเคราะห์อ้างอิงจากทฤษฎีคลื่นเอลเลียต (Elliott Wave) จะเห็นได้ว่าการสร้างสมมติฐานการวิเคราะห์ ณ ปัจจุบัน จะให้น้ำหนักการวิเคราะห์แยกย่อยในกรณีที่เป็น Correction Zigzag มากที่สุดเนื่องจากข้อมูลกราฟในปัจจุบัน(คลื่น 4 ในภาพใหญ่ รูปที่ 1 )แสดงข้อมูลหลักๆเพียง 1 ชุดคลื่นที่ปรับตัวจบแล้วเท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติเราจะสามารถวิเคราะห์สมมติฐานได้เพียง Correction Zigzag และ Correction Flat เท่านั้น (เพราะเห็น 1-2 ชุดคลื่นก็สามารถวิเคราะห์ได้)



แต่ด้วยคลื่น 2 ในภาพใหญ่ (รูปที่ 1)เป็นการปรับตัวประเภทเก็บของ ซึ่งส่งผลให้เกิดคลื่น 3 ขยาย ดังนั้นคลื่น 2 น่าจะเกิดการปรับตัวในบทริบทของ Correction Flat หรือ Non Standard Correction จึงส่งผลให้การวิเคราะห์ในคลื่น 4 มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นบริบทการปรับตัวของรูปแบบการทิ้งหุ้น หรือ Correction Zigzag นั่นเอง




Elliott Wave ทองคำ Gold spot
รูปที่ 11 แผนผังการวิเคราะห์ทั้งหมด





- โต่งเต่ง -
27 ต.ค. 60

X