9 ปัญหา Elliott Wave ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดมากที่สุด!


มหากาพย์! เถียงกันไม่รู้จบ 9 ปัญหาโลกแตกของ ทฤษฎี Elliott Wave ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดมากที่สุด 
( ภาค 1 )


การนับคลื่น Elliott Wave | ทฤษฎี Elliott Wave | Elliott Wave Theory





1. คลื่น 4 ห้าม Overlap คลื่น 1 ?


ไม่จริงครับ! คลื่น 4 สามารถ Overlap คลื่นที่ 1 ได้หรือที่ผมเรียกว่า คลื่น 4 กินหัวคลื่น 1 ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้แน่นอน เรียกรูปแบบนี้ว่า Terminal Impulse Wave หรือ หนังสือ Elliott Wave บางเล่ม เรียกว่า Diagonal Triangle (Ending Diagonal & Leading Diagonal) ขอยังไม่อธิบายรายละเอียดการเปรียบเทียบเนื้อหาข้อมูลจากตำราแต่ละเล่มนะครับเนื่องจากเนื้อหาบางส่วนยังมีความขัดแย้งกันระหว่าง ตำรา Elliott Wave แบบ Classic และ ตำรา Elliott Wave แนวประยุกต์ (บทเรียนถัดๆไปผมจะมาเปรียบเทียบเชิงลึกกันอีกครั้งรวมถึงเทคนิควิธีนำไปประยุกต์ใช้จริง)หากจะอธิบาย Concept ของคลื่น 4 Overlap คลื่น 1 แบบง่ายๆตามหลัก Dow Theory ให้เห็นภาพก็คือ เทรนขณะนั้นกำลังอ่อนแรง และจะส่งผลลัพธ์ให้เกิดการกลับตัวนั่นเอง



เทคนิคการนำมาใช้จริง สไตล์ “โต่ง-เต่ง” คือ Terminal Impulse Wave มักเกิดขึ้นในช่วงปลายเทรนของคลื่นที่ 5 เนื่องจากคลื่น 5 คือ ชุดคลื่นสุดท้ายและหลังจากนั้นก็จะส่งสัญญาณการ Overlap (สัญญาณอ่อนแรง) เพื่อบ่งบอกถึงการเตรียมพร้อมที่จะย่อลงมาเป็น Correction Wave นั่นเอง หรือคลื่น 5 ดังกล่าวเป็น Sub Wave เช่นปลายคลื่น C ของ Correction Wave ก็จะเป็นสัญญาณเตือนการกลับตัวเพื่อเป็น Impulse Wave เช่นกัน

Terminal Impulse wave หรือ Diagonal Triangle จะไม่ถือว่าเป็น Impulse Wave นะครับเนื่องจากโครงสร้างภายในไม่ใช่ Impulse Wave แต่จัดเป็น Motive Wave



2. Elliott Wave บอกแผนที่ ส่วน Fibonacci บอกระยะทาง จริงหรือ?


" Elliott Wave บอกแผนที่ " ในส่วนนี้จริงครับ! เพราะสามารถพยากรณ์บอกตำแหน่ง วัฏจักร (Cycle) ของสถานะคลื่นปัจจุบันที่เราอยู่ได้ ส่วน " Fibonacci บอกระยะทาง " ประโยคนี้ผมมองว่ายังไม่ถูกต้องครับ ตัวเลขต่างๆของ Fibonacci ไม่ได้บอกระยะทางนะครับ เราเองต่างหากที่ไปคาดหวังว่าราคาต้องเคลื่อนที่ไปเท่านั้นเท่านี้ เช่น 161.8% หรือไม่ก็ 261.8% เป็นต้น

อ้าว! แล้วสิ่งใดกันบอกระยะทาง? ตอบ บริบทของสถานะคลื่น Correction ก่อนหน้าต่างหากที่บอกระยะทาง จะเกิดผลลัพธ์ใดขึ้นนั้นจำเป็นต้องเกิดเหตุก่อนเสมอ เช่นเดียวกับ Elliott Wave ความยาวของคลื่นถัดไปจะเกิดขึ้นเท่าไหร่ จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับบริบทการฟอร์มตัวของ Correction คลื่นก่อนหน้าเสมอ ที่บอกนัยยะแฝงของตลาดว่า Impulse Wave ชุดคลื่นถัดไปมีโอกาสเคลื่อนที่ไปได้มากน้อยเพียงใด

แต่ใช่ว่าทฤษฎีบอกบอกเป้าหมายราคาเท่าไหร่ เราก็เชื่อแบบหลับหูหลับตาโดยไม่ได้พิสูจน์แบบนี้ก็ไม่ถูกต้องนะครับ เราจำเป็นต้องเข้าไปวิเคราะห์องค์ประกอบของสถานะคลื่นย่อยด้วย ว่าชุดคลื่นที่วิ่งขึ้นนั้นมีโอกาสเคลื่อนที่ครบ Cycle ณ เป้าหมายตามที่ทฤษฎีได้ระบุไว้หรือไม่





3. แนวทับซ้อนคือเป้าหมายของราคา ใช่หรือ ?


แนวทับซ้อนกันของฟีโบหรือที่เรียกว่า Cluster, Confluence , หรือ Price Reversal Zone นั้นสามารถพิจารณาว่าเป็นแนวที่มีนัยยะได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้การันตีว่าราคาจะเกิดการกลับตัว ณ จุดนั้นเสมอไป

คำถามคือ ถ้ามีแนวทับซ้อนกันหลายแนว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าแนวไหนเป็นแนวรับ แนวต้านของจริง?
ตอบ สถานะคลื่นภายในต่างหากที่เป็นองค์ประกอบหลักสำหรับการพิจารณา ว่าการกลับตัวของราคานั้นควรเกิดขึ้น ณ จุดใดเมื่อคลื่นย่อยเคลื่อนที่ครบสถานะคลื่น เช่น แนวทับซ้อนฟีโบอยู่ที่ 2 บาท แต่สถานะคลื่นย่อยที่ขึ้นประทะราคา 2 บาทนั้นยังเคลื่อนที่ไม่ครบสถานะคลื่นย่อยภายใน ลักษณะเช่นนี้แนวทับซ้อนของฟีโบที่ 2 บาทก็ไม่สามารถเป็นแนวต้านของจริงได้





4. การนับคลื่น(ย่อย) คือ ความ มโน !


อ้าว! 2 ข้อก่อนหน้าเพิ่งอธิบายไปว่าต้องให้ความสำคัญกับคลื่นย่อย…?
การนับคลื่น คือ ข้อมูลเชิงคุณภาพนะครับลองพิจารณาดูดีๆ ถึงแม้มี Key Word ขึ้นต้นด้วยคำว่า “การนับ” แต่อย่าลืมว่าการนับคลื่นในแบบคุณ อาจจะนับคลื่นไม่เหมือนในแบบของคนอื่นก็ได้ ดังนั้นจะนับคลื่นอย่างไร ให้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณมากที่สุดเพื่อลดความมโน คือ

1.ใช้อัตราส่วนทางทฤษฎีเป็นตัวอ้างอิงในการนับคลื่น เช่น จะนับคลื่น 2 ได้หรือไม่นั้นเราก็ต้องเช็คกฎ Degree ว่าการปรับตัวได้เข้าเงื่อนไขตามทฤษฎีแล้วหรือยัง เป็นต้น

2.ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณจากอินดิเคเตอร์ช่วยนับคลื่น เช่น จากเทคนิค การนับคลื่น Elliott Wave ของผมจะใช้สัญญาณ Divergence จากตัวเคลื่อนที่ช้า และ Hidden Divergence จากตัวเคลื่อนที่ไวสำหรับ ไว้ช่วยนับคลื่น เนื่องจากสัญญาณความขัดแยงต่างๆไม่ว่าจะเป็น Divergence หรือ Hidden Divergence นั้น สามารถเปรียบเทียบหรือวิเคราะห์ผลเป็นข้อมูลเชิงปริมาณได้

3. สร้างสมมติฐานเงื่อนไขในการวิเคราะห์ที่อิงกับทฤษฎี เช่น สมมติเรานับสถานะคลื่นได้ 1 กรณี เราควรต้องวิเคราะห์ให้ได้ต่อ ว่ารูปแบบดังกล่าวสามารถวิเคราะห์แยกย่อยเพิ่มเติมได้เป็นกรณีไหนบ้าง, จุดไหนยืนยัน, อิงทฤษฎีข้อไหน, และเพราะอะไร รวมทั้งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นนั้น สามารถเคลื่อนที่ไปยังทิศทางไหนได้บ้าง เป็นต้น

หากคุณใช้องค์ประกอบเทคนิค 3 ข้อในการนับคลื่นดังกล่าวที่ผมแนะนำ ผลการวิเคราะห์ที่ออกมาก็จะอิงข้อมูลเชิงปริมาณมากกว่าข้อมูลเชิงคุณภาพและส่งผลให้การนับคลื่นของคุณ ลดความมโน นั่นเอง





5. จริงหรือ! Divergence คือ คลื่น 5


ส่วนใหญ่แล้วคลื่นที่ 5 มักเกิดสัญญาณ Divergence แต่ใช่ว่าเกิดสัญญาณ Divergence ขึ้นแล้วจะต้องเป็นคลื่น 5 เสมออย่าเข้าใจผิดนะครับ  เนื่องจากรูปแบบ Correction Wave ที่ทำ New High อย่างกลุ่มของ Strong B ในรูปแบบ Flat ต่างก็เกิด Divergence ขึ้นด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งไม่ใช่สถานะคลื่นที่ 5
การใช้สัญญาณอินดิเคเตอร์เพื่อช่วยในกาวิเคราะห์สถานะคลื่นเป็นเพียงเทคนิคมุมมองที่นำมาประยุกต์ในการนับคลื่นให้ง่าย และรวดเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้การันตีว่าสัญญาณจากอินดิเคเตอร์ต่างๆจะถูกต้องเสมอไป เราจำเป็นต้องใช้กฎและอัตราส่วนตามทฤษฎีในการอ้างอิงการวิเคราะห์เป็นหลัก





6. Elliott Wave ( ไม่ ! ) จำเป็นต้องเริ่มนับ 12345 


หลายครั้งเราชินที่จะเริ่มต้นนับคลื่น  12345 แบบนี้เสมอ หารู้ไม่หุ้นบางตัวที่อยู่ในตลาดอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มนับแบบนี้ก็ได้ หากโครงสร้างของกราฟหุ้นผิดกฎของ Impulse Wave เราจำเป็นต้องเปลี่ยนการนับคลื่นในลักษณะดังกล่าว เปลี่ยนมาเป็น Correction Wave แทน





7. Level ฟีโบ ไม่ได้มีไว้ให้ราคาไปสัมผัสแล้ว “ มโน ” ว่านั่นคือเป้าหมาย


Level ฟีโบต่างๆมีไว้เพื่อแบ่งขอบเขตอัตราส่วนของชุดคลื่น เพื่อวิเคราะห์ว่าสัดส่วนการพักตัวหรือสัดส่วนเป้าหมายที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในอัตราส่วนตามทฤษฎีเท่าไหร่ เพื่อจะวิเคราะห์หาแนวทางความน่าจะเป็นของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ว่าสามารถเกิดขึ้นไปยังทิศทางใดได้บ้าง แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ราคามาทดสอบสัมผัส Level ฟีโบต่างๆและ “มโน” ว่านั่นคือเป้าหมาย





8. Elliott Wave นับยังไงก็ได้ 10 คนนับ ก็ได้ 10 แบบ


ไม่จริงครับ ทฤษฎีคลื่น Elliott Wave มีกฎเกณฑ์อัตราส่วนที่ระบุเป็นข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อเป็นกรอบแนวทางการวิเคราะห์ที่ชัดเจน ดังนั้นการนับคลื่นของแต่ละคนกับสินค้าชนิดเดียวกัน ควรมีผลลัพธ์รูปแบบโครงสร้างการนับคลื่นที่คล้ายกัน แต่สิ่งที่จะแตกต่างกันคือมุมมองของข้อสมมติฐานเงื่อนไขในกรณีอื่นๆเพิ่มเติม ที่จำเป็นต้องวิเคราะห์สมมติฐานการเคลื่อนที่ของราคาที่อิงกับทฤษฎีให้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น จุดนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้วิเคราะห์ว่าสามารถแยกย่อยข้อสมมติฐานอื่นๆเพิ่มเติมได้มากน้อยเพียงใด





9. Elliott wave ยากที่จะเรียนรู้ เทรดแบบง่ายๆได้ตังค์ ก็พอ !


ถูกต้องครับเป้าหมายของการเทรดคือ กำไร เทรดแบบง่ายๆแล้วได้ตังค์ ไม่ผิดนะครับ แต่เทรดแล้วรู้เหตุและผลของการได้ตังค์ต่างหากที่สำคัญกว่า เพราะการเทรดอย่างมีเหตุและผลรองรับนั้น มันสามารถปฏิบัติทำซ้ำได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งแตกต่างจากการเทรดแบบง่ายๆด้วยวิธีการวัดดวง… เงินทองเป็นของหายากแล้วนำมาเดิมพันด้วยวิธีการคิดแบบง่ายๆ แบบนี้สมเหตุผลแล้วหรือ?

Elliott Wave เป็นทฤษฎีที่ยากไม่มีใครอยากจะเสียเวลาเรียนรู้หรอก แต่ด้วยปัญหาการเทรดแบบเดิมๆที่ไม่สามารถตอบโจทย์ให้เหตุและผลที่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มเริ่มเข้ามาศึกษาทฤษฎี Elliott Wave อย่างจริงจัง





หนึ่งในบทความ สอน Elliott Wave ของ " มโน-เวฟ ดอท คอม " หากท่านต้องการศึกษาหลักทฤษฎีการ เรียน Elliott Wave เชิงลึกแนะนำศึกษาคลิปวิดีโอยูทูปบันทึกการเทรด สอนเล่นหุ้น เก็งกำไรในสภาวะตลดจริงควบคู่กับศึกษา หนังสือ Elliott Wave ผลงานเขียนของผมชื่อ "เล่นหุ้นอย่างไร ไม่มโน" ก็จะทำให้เข้าใจมุมมองความรู้ที่ผมถ่ายทอดได้มากขึ้นครับ



-โต่งเต่ง-
3 ส.ค. 60



X